เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 4. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
ว่าด้วยผู้จบเวท
คำว่า ทรงเป็นผู้จบเวท ทรงอบรมพระองค์แล้ว อธิบายว่า
พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าทรงเป็นผู้จบเวท อย่างไร
ญาณ ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ฯลฯ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิมังสา
วิปัสสนา สัมมาทิฏฐิในมรรคทั้ง 4 เรียกว่า เวท
พระผู้มีพระภาคทรงถึงที่สุด ทรงบรรลุที่สุด ทรงถึงส่วนสุด ทรงบรรลุส่วนสุด
ทรงถึงปลายสุด ทรงบรรลุปลายสุด ทรงถึงท้ายสุด ทรงบรรลุท้ายสุด ทรงถึงที่
ปกป้อง ทรงบรรลุที่ปกป้อง ทรงถึงที่หลีกเร้น ทรงบรรลุที่หลีกเร้น ทรงถึงที่พึ่ง
ทรงบรรลุที่พึ่ง ทรงถึงที่ไม่มีภัย ทรงบรรลุที่ไม่มีภัย ทรงถึงที่ไม่จุติ ทรงบรรลุที่ไม่จุติ
ทรงถึงที่ไม่ตาย ทรงบรรลุที่ไม่ตาย ทรงถึงที่ดับ ทรงบรรลุที่ดับแห่งชาติ ชรา
และมรณะ ด้วยเวทเหล่านั้น
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคชื่อว่าทรงเป็นผู้จบเวท เพราะทรงถึงที่สุดแห่ง
เวททั้งหลาย
ชื่อว่าทรงเป็นผู้จบเวท เพราะทรงถึงที่สุดด้วยเวททั้งหลาย
ชื่อว่าทรงเป็นผู้จบเวท เพราะทรงเป็นผู้รู้แจ้งธรรม 7 ประการ คือ
1. ทรงรู้แจ้งสักกายทิฏฐิ
2. ทรงรู้แจ้งวิจิกิจฉา
3. ทรงรู้แจ้งสีลัพพตปรามาส
4. ทรงรู้แจ้งราคะ
5. ทรงรู้แจ้งโทสะ
6. ทรงรู้แจ้งโมหะ
7. ทรงรู้แจ้งมานะ
และพระองค์ทรงรู้แจ้งบาปอกุศลธรรมซึ่งเป็นเหตุแห่งความเศร้าหมอง ก่อภพใหม่
มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติชราและมรณะต่อไป


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :114 }